ผลสำรวจสินค้า EEE และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ถูกตรวจพบสารต้องห้ามเกินขีดจำกัดในตลาด EU ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบเกินครึ่งตกเพราะมี SCCP เกินขีดจำกัด ส่วนสินค้าที่ตก RoHS (6 สาร) มีประมาณ 28% ส่วนใหญ่ตกตะกั่วและปรอท และยังมีบรรจุภัณฑ์ที่สารต้องห้ามเกินขีดจำกัดอยู่
สำรวจสินค้าที่ถูกตรวจพบสารต้องห้ามใน EU
RoHS/ELV มีผลบังคับใช้มานานกว่าสิบปี ในระหว่างนี้มีกฎหมายควบคุมการใช้สารเคมีในผลิตภัณฑ์อื่นอีกหลายฉบับเกิดขึ้น ที่สำคัญได้แก่กฎหมาย REACH และกฎหมาย POPs กฏหมายเหล่านี้มีเนื้อหาและข้อกำหนดที่ค่อนข้างซับซ้อนกว่า RoHS/ELV แต่ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายฉบับใด ผู้ผลิตมีหน้าที่ผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับข้อกำหนดทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตน เพราะหากสินค้าไม่สอดคล้อง ไม่ว่าจะด้วยกฎหมายฉบับใด ผลกระทบหลักๆ ค่อนข้างจะเหมือนกันคือ สินค้าจะต้องถูกตีกลับ และหากความไม่สอดคล้องส่อแววก่อความเสี่ยงต่อผู้บริโภคมาก ก็อาจต้องมีการเรียกคืนสินค้าที่ขายไปแล้ว รวมถึงต้องดำเนินมาตรการเยียวยา/แก้ปัญหาอื่นๆ ตามแต่ประเทศปลายทางจะกำหนด
แต่เมื่อ MTEC ทำการสำรวจความพร้อมของผู้ประกอบการไทย ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2018 ที่ผ่านมา คำตอบกลับไม่เป็นตามคาด REACH Restriction และ POPs ไม่ใช่ประเด็นที่ผู้ประกอบการกังวล และเมื่อสอบถามผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรม chemSHERPA Workshop ทั้ง 5 รอบในปี 2018 พบว่า ผู้ประกอบการให้ความสนใจกับ RoHS/ELV และ REACH-sVHC มาก (ซึ่งเป็นสิ่งดี) ส่วนสารต้องห้ามรายการอื่นคำตอบที่ได้คือ "ไม่มี" "ไม่ได้คุม" "ลูกค้าไม่ได้ร้องขอ" "ไม่อยู่ในขอบเขตของ RoHS/ELV"
จึงน่าสนใจว่า เหตุใดลูกค้า (ทั้งในและต่างประเทศ) จึงไม่ร้องขอเป็นเพราะระเบียบ RoHS/ELV เข้มงวดกว่าและยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายใหม่ๆ เหล่านี้?หรือเป็นเพราะลูกค้า (ผู้ประกอบการตลอดสายโซ่การผลิต) ไม่รู้ว่ายังมีกฎหมายฉบับอื่นอีก?
เพื่อหาคำตอบให้กับข้อสงสัยนี้ เราจึงได้สำรวจข้อมูลการแจ้งเตือนสินค้าที่ประเทศต่างๆในสหภาพยุโรปตรวจพบความไม่สอดคล้องต่อกฎหมายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บนเว็บไซด์ European Commission - Rapid Alert System หรือ RAPEX เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2109 โดยเลือกค้นรายงาน สำหรับสินค้าประเภท Communication and media equipment, Electrical appliances and equipment และ Motor vehicles ที่ตรวจพบความเสี่ยง 2 ประเภทได้แก่ Chemical, Environmental แต่ไม่รวมความเสี่ยงจากเพลิงไหม้ และตัดประเด็นความเสี่ยงที่เป็นผลมาจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ออก พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
SCCP สารต้องห้ามยอดฮิตใน EEE/ยานยนต์
|
|
ประวัติการควบคุม SCCP
SCCP หรือ Short-chain Chlorinated Paraffins เป็น Plasticizer ที่มีคลอรีนในตัว ทำให้ SCCP เป็น Plasticizer ที่หน่วงการติดไฟได้ด้วย SCCP ยังมีสมบัติพิเศษช่วยสร้างผิวหล่อลื่นชิ้นงานโลหะเมื่อได้รับความร้อน จึงมีการนำมาผสมในน้ำมันหล่อเย็น (Cutting fluids) และน้ำมันเครื่อง
SCCP เป็นสารที่ถูกกำหนดเป็นสารต้องห้ามตามระเบียบ 2002/45/EC ซึ่งมีผลบังคับไปตั้งแต่ 6 ม.ค. 2004 - ก่อนจะมีการออกกฎ REACH แต่การควบคุมในช่วงนั้นคุมเฉพาะการใช้ SCCP ในฐานะเคมีภัณฑ์ (ใช้งานในลักษณะ "น้ำมัน") และการใช้เป็น Fat liquor ในกระบวนการฟอกหนัง - ทำให้หนังนิ่ม โดยระเบียบ 2002/45/EC กำหนดขีดจำกัดไว้ที่ 1% (ส่วนผสมสารเคมี) และเมื่อมีกฎหมาย REACH เริ่มมีผลบังคับใช้ SCCP ได้ถูกโอนไปรวมไว้ในบัญชีสารต้องห้าม Annex XVII - รายการที่ 42
ต่อมาเมื่อพบว่า SCCP เป็นสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน SCCP ก็ถูกถอนออกจากบัญชีสารต้องห้ามภายใต้กฎหมาย REACH ในปี 2012 โดยให้ย้ายไปอยู่ภายใต้กฎหมาย POPs แทน (Commission Regulation 519/2012) กฎหมาย POPs มีกลไกการควบคุมสารเคมีทุกรูปแบบทั้งการผลิต การจำหน่าย การนำเข้า การส่งออก ทั้งในรูปเคมีภัณฑ์และในรูปสารเติมแต่งในผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งเข้มงวดกว่า REACH มาก การย้าย SCCP ไปอยู่ภายใต้กฎหมาย POPs จึงมีผลทำให้เกิดการขยายขอบเขตการควบคุมไปโดยปริยาย (จากเดิมครอบคลุม 2 งาน เป็นครอบคลุมทุกเรื่อง เว้นแต่จะระบุให้ได้รับการยกเว้น)
เมื่อมีการห้ามผลิต/ห้ามใช้ SCCP ก็เกิดแรงผลักดันให้ไปใช้ MCCP (Medium-chain CP) แทน แต่ตัว MCCP ที่ผลิตในเชิงอุตสาหกรรมก็อาจมี SCCP ปนเปื้อนในตัวได้ ECHA จึงประกาศ COMMISSION REGULATION (EU) 2015/2030 เมื่อเดือน พ.ย. 2015 กำหนดขีดจำกัดการปนเปื้อน SCCP ที่ยอมรับได้ไว้ที่ 1% สำหรับสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์ และ 0.15% โดยน้ำหนัก สำหรับสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ มีผลบังคับใช้กับสินค้าที่นำเข้าตลาดตั้งแต่ 10 ก.ค. 2012 เป็นต้นไป
ตอบประเด็นข้อสงสัย?
จากข้อมูลที่ได้ สามารถตัดประเด็นข้อสงสัยเรื่องการไม่บังคับใช้กฎหมายไปได้ เพราะมีข้อมูลชัดเจนว่า EU มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับอื่นเหมือนกัน และในทางตรงกันข้าม สินค้า EEE/ยานยนต์ที่ไม่สอดคล้องฯ ที่ตรวจพบกลับเป็นกฎหมายอื่นนอกเหนือจาก RoHS/ELV (SCCP กับ REACH รวมกันได้ประมาณ 2 ใน 3)
หากวิเคราะห์ข้อมูลรายงานการแจ้งสินค้าที่ไม่สอดคล้องฯ ควบคู่กับประวัติควบคุม SCCP อาจคาดการณ์ปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการควบคุมสารต้องห้ามได้ดังนี้
- SCCP ถูกถอนออกจากบัญชีสารต้องห้าม ไปอยู่ในบัญชี POPs ซึ่งผู้ผลิตไม่ค่อยรู้จัก
- ผู้ผลิตอาจมีความตระหนักเรื่องการห้ามใช้ SCCP ในอดีต แต่ไม่รู้ถึงผลกระทบจากการขยายขอบเขต (โดยอัตโนมัติ) หลัง SCCP ถูกย้ายบัญชี
- ผู้ผลิตสนใจเฉพาะบัญชี RoHS และไม่ได้ตระหนักว่ายังมีสารต้องห้ามในบัญชีอื่นที่คุมเข้มกว่า RoHS
- ผู้ผลิตมีการควบคุมและได้หันไปใช้ MCCP แทนแล้ว แต่ MCCP ที่ใช้มี SCCP ปนอยู่มากกว่าที่คิด ซึ่งกรณีนี้อาจเป็นได้สำหรับรายการที่ตกแบบฉิวเฉียด (ระดับ 0.2%) แต่ไม่น่าจะเป็นไปได้สำหรับรายการที่ถูกตรวจพบการปนเปื้อนสูงระดับเปอร์เซนต์
ยังมีสารต้องห้ามรายการอื่นที่น่าเป็นห่วงอีกหรือไม่?
หากขยายขอบเขตการศึกษานี้ให้ครอบคลุมสินค้าทุกประเภทไม่จำกัดเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และชิ้นส่วนยานยนต์ และเริ่มตั้งแต่ปี 2013 - ปีแรกที่ RoHS V.2 เริ่มมีผลบังคับใช้ ผลที่ได้จะเป็นดังกราฟด้านบน เมื่อเทียบกับสารต้องห้ามรายการอื่น ความไม่สอดคล้องต่อ RoHS (6 สาร) ดูจะพบน้อยแต่ก็มีมาเรื่อยๆ ทุกปี ที่น่าสนใจคือ PAH (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) ที่พุ่งสูงขึ้นในปี 2017 - ปีแรกที่ข้อกำหนดสารต้องห้ามรายการที่ 50 ของ REACH เริ่มมีผลบังคับใช้กับชิ้นส่วนยางและพลาสติกทุกชนิดที่สัมผัสผิวหนัง ส่วนกรณี SCCP จะเห็นแนวโน้มสูงขึ้นหลังปี 2015 - ปีที่มีการประกาศขีดจำกัดที่ชัดเจน แต่ทั้งสองรายการ ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าพธาเลท ที่ถูกตรวจพบปีละร่วม 200 คดี ทั้งที่ในขณะนี้กฎหมายควบคุมพธาเลท มีผลบังคับใช้ในวงแคบเฉพาะกับสินค้ากลุ่มของเล่นและสินค้าสำหรับเด็กเท่านั้น ซึ่งข้อห้ามพธาเลทในสินค้ากลุ่มนี้มีผลบังคับใช้มากว่า 10 ปีแล้ว แต่จำนวนสินค้าที่ถูกตรวจพบสารกลุ่มนี้ ก็ยังไม่มีแนวโน้มลดลง
คลื่นพธาเลทกำลังมา:
- พธาเลทใน RoHS (10 สาร) ที่ประกาศมาร่วม 3 ปีและจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า - เป็นครั้งแรกที่การคุมพธาเลท ถูกขยายขอบเขตสู่สินค้ากระแสหลัก
- พธาเลทในรายการที่ 51 ของ REACH Annex XVII ที่เพิ่งขยายขอบเขตครอบคลุมวัสดุเนื้อนิ่มทุกชนิดไปเมื่อ 17 ธ.ค. 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ค. ปีหน้า ซึ่งจะทำให้พลาสติกเนื้อนิ่มแทบทุกชนิด ต้องปลอดพธาเลทที่เป็นสารต้องห้ามทั้ง 4 ชนิด
หากผู้ผลิตที่เกี่ยวข้อง ไม่ตระหนักถึงข้อห้ามข้อนี้หรือไม่มีความพร้อมเพียงพอ ก็เชื่อได้ว่าเส้นกราฟพธาเลทจะยิ่งทิ้งห่างสารต้องห้ามรายการอื่น อย่างก้าวกระโดด