รู้หรือไม่ว่าพธาเลท สามารถไหลผ่านออกจากวัสดุหนึ่งไปเปื้อนในวัสดุ/ชิ้นส่วนอื่นได้?
พฤติกรรมที่แตกต่างนี้ ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีการควบคุมการผลิตสินค้า RoHS แบบใช้ "ใบเซอร์" หรือการควบคุมเฉพาะแต่วัตถุดิบขาเข้า/ส่วนผสม เหมือนกับการคุมสารต้องห้ามรายการอื่นๆ โดยไม่หันกลับมามองกระบวนการผลิตภายใน ทั้งของเราเองและของ Supplier ได้
พธาเลทเป็น "น้ำมัน"
พธาเลทกลุ่มสารพลาสติกไซเซอร์ มีลักษณะคล้าย "น้ำมัน" ใช้ผสมในเนื้อวัสดุอื่น เพื่อทำหน้าที่คล้ายเป็นตัวทำละลาย เพื่อให้สามารถผสมและขึ้นรูปวัสดุ ที่เดิมอาจมีลักษณะเป็นของแข็ง หรือเป็นผงร่วนๆ ให้เป็นแผ่นหรือชิ้นงาน "พลาสติกเนื้อนิ่ม" ที่มีความยืดหยุ่นเหมาะกับงานแต่ละประเภท ตัวอย่างงานที่ใช้ประโยชน์จากพลาสติกไซเซอร์เช่น เช่นแผ่นปะเก็น โอริง วัสดุอุด ดินน้ำมัน ผ้าม่านพลาสติก สายยาง สายไฟ สี หมึกพิมพ์ ฯลฯ
เพราะเป็น "น้ำมัน" - พธาเลทสามารถไหลเข้า/ออก วัสดุได้
พธาเลทในเนื้อวัสดุ สามารถ "ไหล" มารวมตัวบริเวณพื้นผิว หรือแม้กระทั่งระเหยออกจากเนื้อวัสดุได้ หากอยู่ในภาวะที่เหมาะสม ดังนั้นหากนำวัสดุที่สามารถ "ดูดซับ" พธาเลทได้ ไปวางทับบนวัสดุที่มีพธาเลทในตัว พธาเลทก็สามารถแพร่ไปติดบนวัสดุชิ้นนั้นได้ โดยอัตราการแพร่นี้ จะขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญได้แก่
- ความเข้มข้นของพธาเลทในวัสดุที่เป็น "แหล่ง" - ถ้าวัสดุต้นทางมีมาก โอกาสที่จะไหลไปก็มีมาก อีกทั้งความเร็วในการไหล ก็จะสูงขึ้นตามกัน
- ความสามารถในการ "ดูดซับ" พธาเลทของวัสดุปลายทาง - หากเป็นวัสดุที่ดูดซับ "น้ำมัน" ได้ง่าย ก็จะไหลไปได้เร็ว และยิ่งเป็นวัสดุเนื้อพรุนก็จะสามารถดูดซับได้มากขึ้น
- พื้นที่สัมผัส - หากมีพื้นที่ผิวสัมผัสมาก ก็มีช่องทางให้ไหลออกมาก
- อุณหภูมิ - คล้ายน้ำมันทั่วๆ ไป - เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ความหนืดจะลดลง อัตราการไหลก็จะมากขึ้น
- เวลา - ยิ่งให้เวลามาก ก็จะไหลมาได้มากขึ้น
การนำเอาชิ้นส่วน/วัสดุที่ยืนยันแล้วว่าไม่มี พธาเลทที่เป็นสารต้องห้าม ไปวางบนวัสดุที่มีพธาเลทที่เป็นสารต้องห้ามสูง แม้วัสดุนั้นๆ จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ แต่พธาเลทจากวัสดุเหล่านี้ ก็อาจไหลไปเปื้อน ชิ้นงานได้ ตัวอย่างวัสดุที่อาจเป็น "แหล่ง" ปนเปื้อนพธาเลท เช่น แผ่นยางปูโต๊ะ สายพาน พลาสติกแรปที่ใช้ม้วนห่อหุ้มสินค้า ถุง/บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ใส่สินค้า ฯลฯ
ปนเปื้อนในกระบวนการผลิตชิ้นส่วน?
นอกจากการปนเปื้อนจากการ สัมผัสแล้ว การปนเปื้อนในช่วงการผลิตตัวชิ้นส่วนเอง ก็เป็นแหล่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโรงงาน/กระบวนการผลิตใช้พธาเลททั้ง 2 ประเภท (ที่เป็นสารต้องห้ามและที่ไม่เป็น) ที่อาจมีพธาเลทที่เป็นสารต้องห้าม (เช่น DEHP) คงค้างอยู่ในระบบ และหลุดเข้ามาปนเปื้อนสินค้าที่ใช้พธาเลทอื่นที่ไม่ใช่สารต้องห้าม (เช่น DINP) ได้
ตัวสารทดแทนเอง ก็อาจเปื้อนสารต้องห้าม
นอกจากการควบคุมในที่อื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว การควบคุมที่ตัวพลาสติกไซเซอร์ เองก็เป็นประเด็นสำคัญ เพราะแม้จะหันไปใช้พธาเลทชนิดอื่นเช่น DINP แทนการใช้พธาเลทที่ถูกห้ามเช่น DEHP/DOP แล้ว ก็ยังมีรายงานการตรวจพบ DEHP/DOP ปนเปื้อนอยู่ใน DINP อยู่เนืองๆ ถึงจุดนี้ผู้ซื้อพลาสติกไซเซอร์ คงต้องทำงานใกล้ชิดกับ Supplier เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการควบคุมการผลิต/การจัดเก็บสินค้า ฯลฯ ให้มั่นใจว่าสารทดแทนที่ใช้จะไม่มีสารต้องห้ามปนเปื้อนเข้ามา