ทำความรู้จัก REACH

สำหรับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ในสายโซ่การผลิต ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าเพื่อส่งไปขายในสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม REACH-SVHC ถือเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ที่ต้องเรียนรู้และปฏิบัติตาม

REACH เป็นกฎหมายแนวคิดใหม่ ที่มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารจัดการสารเคมีใน EU จากเดิมที่เป็นแบบ "Hazard-based" - มุ่งจัดการกับสารอันตรายโดยดูที่ความเป็นอันตราย (Hazard) อย่างเดียว ไปสู่ "Risk-based" ที่พิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงประกอบกัน และมุ่งบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยง โดย REACH วางกลไกเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงไว้หลายด้าน ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับสินค้าประเภท "สารเคมี/เคมีภัณฑ์" แต่ก็จะมีบางส่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีกลไกควบคุมสารเคมีในผลิตภัณฑ์ (Chemicals in Products: CiP) 

REACH คืออะไร?

ก่อนที่จะเข้าไปเรียนรู้ในรายละเอียด ควรทำความรู้จักกับ REACH ก่อน

REACH เป็นกฎหมายของสหภาพยุโรป (Regulation (EC) No. 1907/2006) ว่าด้วย การจดทะเบียน (Registration) การประเมินความเสี่ยง (Evaluation) การขออนุญาต (Authorization) และการจำกัดการใช้ (Restriction) สารเคมี (CHemicals) ในสหภาพยุโรป ที่ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อ 18 ธันวาคม 2006

REACH เป็นผลจากความพยายามนับสิบปีของ EU ในการ “ยกเครื่อง” นโยบายและกลไกการจัดการกับปัญหาความปลอดภัยสารเคมีของสหภาพยุโรป เมื่อครั้งยกร่าง REACH เป็นร่างกฎหมายที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก และต้องใช้เวลาถึง 7 ปี กว่ากฎหมายจะผ่านขั้นตอนต่างๆ ในสภา จนคลอดออกมาเป็นกฎหมายที่มีความยาวถึง 849 หน้ากระดาษ A4 จึงไม่น่าแปลกใจที่กฎหมายฉบับนี้ ได้รับการจัดอันดับให้เป็น “ที่สุด” ในหลายๆ ด้าน เช่น เป็นกฎหมายที่ซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ EU เป็นกฎหมายที่สำคัญที่สุดในรอบ 20 ปี เป็นกฎหมายควบคุมสารเคมีที่เข้มงวดที่สุดในโลก และ เป็นกฎหมายที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงที่สุด (EU ประเมินไว้ที่ 5 พันล้านยูโรหรือประมาณ 2 แสนล้านบาท) เป็นต้น

REACH เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยสารเคมี

ซึ่งแตกต่างไปจากกฎหมายฉบับอื่นที่เคยรู้จักกัน ที่มักมีข้อกำหนดที่มุ่งเน้นการควบคุมที่ตัวสินค้าหรือวัตถุที่ต้องการควบคุม (เช่น RoHS, ELV) – หากเริ่มพิจารณา REACH จากมุมมองของการป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการผลิตและการใช้สารเคมี จะเห็นว่าอุบัติเหตุจากสารเคมี มีปัจจัยประกอบหลายด้าน การควบคุมปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง เช่นการควบคุมสารเคมีโดยออกข้อบังคับที่เข้มงวดให้ผู้ผลิตสารเคมีต้องปฏิบัติ นอกจากจะไม่สามารถลดปัญหาได้แล้ว ยังจะเป็นการสร้างภาระที่จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนสารเคมีที่มีการคิดค้นขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ

การป้องกันอันตรายจากสารเคมี ไม่สามารถทำได้โดยการแก้ไขที่ปลายเหตุ แต่ต้องมีมาตรการในการลดเหตุหรือปัจจัยที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือที่เรียกกันว่า “ปัจจัยเสี่ยง” อย่างเป็นระบบ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ไม่เฉพาะผู้ผลิตสารเคมี ต้องร่วมกันรับผิดชอบโดยการทำหน้าที่ของตน เพื่อลดความเสี่ยงและช่วยกันทำให้เกิดการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น และจากแนวคิดนี้เอง ทำให้ EU ต้องตัดสินใจล้างระบบการจัดการสารเคมีตามแนวคิดเก่า และออกกฎ REACH ขึ้นมาแทนที่ เพื่อวางมาตรการต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อนำไปสู่การควบคุมความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีอย่างเป็นระบบ โดยการปรับระบบครั้งนี้ จะมีช่วงเปลี่ยนผ่าน 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปี 2018 ซึ่งหลังจากปี 2018 เป็นต้นไป กลไกการบริหารจัดการสารเคมีในสหภาพยุโรป ก็จะเป็นไปในรูปแบบใหม่ตามที่ REACH กำหนด อย่างควบวงจร

REACH - วางกลไกเพื่อควบคุมความเสี่ยง

เนื้อหาสาระในกฎหมาย REACH เกือบทั้งฉบับเป็นการกำหนดขั้นตอน เงื่อนไขและกลไกที่จะถูกนำมาใช้ตามลำดับขั้น ตามระดับความเสี่ยงที่พิจารณาจากปัจจัยหลายด้านประกอบกัน เช่น ลักษณะเฉพาะตัว/ระดับความเป็นอันตรายของสารเคมีแต่ละชนิด ปริมาณที่เกี่ยวข้อง ลักษณะการใช้งาน ระดับความพร้อมและมาตรการควบคุมของผู้ใช้ โอกาสหรือเส้นทางการได้รับอันตราย และลักษณะ/เส้นทางการแพร่กระจายของสารเคมีนี้ในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น กิจกรรมใดมีความเสี่ยงสูง ก็จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้นเป็นลำดับ โดย REACH ใช้วิธีการกำหนดเงื่อนไขหรือปัจจัยกระตุ้น ให้กลไกการควบคุมในระดับต่างๆ ที่ได้วางไว้ เริ่มทำงาน เงื่อนไขกระตุ้นเบื้องต้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ เช่น

  • เงื่อนไขด้านปริมาณ – ยิ่งเกี่ยวข้องกับสารเคมีในปริมาณมาก ก็ยิ่งต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นตามลำดับ
  • เงื่อนไขด้านความเป็นพิษหรืออันตรายของสารเคมี – ยิ่งยุ่งเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตรายมาก ก็ยิ่งต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ REACH ยังแยกพิจารณาสินค้ากลุ่มที่เรียกว่า ผลิตภัณฑ์ (Article) ที่แม้จะได้มาจากการแปรรูปสารเคมี/เคมีภัณฑ์ จนได้เป็นวัตถุที่มีรูปร่างหน้าตาและประโยชน์ใช้สอยที่ชัดเจน แต่รูปแบบ/ลักษณะของความเสี่ยง และบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องกับ “ผลิตภัณฑ์” มีความแตกต่างจากสินค้าในกลุ่ม สารเคมีและเคมีภัณฑ์มาก กลไกที่เหมาะสมในการจัดการความปลอดภัย สำหรับวัตถุทั้งสองประเภทนี้ จึงต้องแตกต่างกัน ข้อกำหนดของ REACH ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ผลิตภัณฑ์ จึงแตกต่างจากข้อกำหนดสำหรับ สารเคมี/เคมีภัณฑ์ มาก

ความปลอดภัยเป็นหน้าที่ของทุกคน

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องทำทุกอย่างเหมือนกันหมด หากพิจารณาบทบาทและความเชื่อมโยงของผู้ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีแต่ละราย ตั้งแต่ผู้ผลิตสารเคมี ผู้ผลิตในสายโซ่การผลิต ผู้ใช้สารเคมีในงานอุตสาหกรรม ไปจนถึงผู้บริโภค จะเห็นว่าแต่ละฝ่ายมีความเกี่ยวข้องกับสารเคมีในระดับที่แตกต่างกัน REACH จึงกำหนดบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบที่แตกต่างกันให้กับ “ผู้เล่น” หรือ “Actor” แต่ละประเภทใน EU[1] ตามกิจกรรมที่ Actor แต่ละรายมีส่วนเกี่ยวข้อง – ผู้ผลิตสารเคมีมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อสารเคมีที่ตนผลิต ต้องศึกษาลักษณะสมบัติของสารที่ตนผลิตและต้องรู้จักสารเคมีที่ตนผลิตดีพอ และต้องให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้อย่างเพียงพอ ส่วนผู้ที่เป็นผู้ใช้ เมื่อได้รับข้อมูลมาแล้ว ก็ต้องศึกษาและพิจารณามาตรการป้องกันต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถใช้สารเคมีเหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย – เราคงไม่สามารถกำหนดให้ผู้ผลิตสารเคมี ต้องคอยดูแลให้ผู้ใช้ ใช้งานสารเคมีอย่างปลอดภัย หรือให้ผู้ใช้สารเคมี ต้องรู้จักสารเคมีทุกชนิดที่ตนใช้ อย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่ได้ เป็นต้น

จากกลไกการควบคุมในระดับต่างๆ ที่ได้วางไว้ – REACH บังคับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีที่มีระดับความเสี่ยงได้ตามเงื่อนไขหรือปัจจัยกระตุ้นที่กำหนด ต้องทำหน้าที่ในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน เพื่อควบคุมความเสี่ยงจากสารเคมีนั้นๆ โดย REACH ได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้กับ “Actor” ในลำดับต่างๆ ของสายโซ่การผลิตสินค้า ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ไม่ทำหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายกำหนด จะไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีชนิดนั้นต่อ

กลไกภายใต้ REACH

REACH ต้องการให้กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะมีการคิดค้นขึ้นใหม่ในอนาคต มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยใช้วิธีการควบคุมความเสี่ยงซึ่งต้องอาศัยข้อมูลในหลายด้าน กลไกภายใต้ REACH จึงต้องเริ่มต้นที่ข้อมูล

REACH กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสินค้าในกลุ่มสารเคมี/เคมีภัณฑ์ ใน EU ที่เป็นไปตามเงื่อนไขกระตุ้น มีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นต่อการประเมินและการควบคุมความเสี่ยงจากสารเคมีรายการนั้นๆ ผ่านกลไกขั้นที่ 1 คือการจดทะเบียนสารเคมี (Registration: R) ซึ่งการจดทะเบียนนี้ มีผลต่อเนื่องถึงการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับลักษณะสมบัติเฉพาะตัวของสารเคมี รวมถึงการทดสอบสารเคมีเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการประเมินลักษณะเฉพาะตัวของสารเคมีแต่ละชนิด รวมถึงการประเมินเส้นทางการไหล การแปรสภาพ และเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ สารเคมีเหล่านี้ (ความเข้มตามปริมาณที่เกี่ยวข้อง) เป็นต้น

หลังได้ข้อมูลพื้นฐาน ก็จะเข้าสู่กลไกขั้นที่ 2 คือการประเมินความเสี่ยงของสารเคมี (Evaluation: E) โดยจะมีองค์กรกลาง ทำหน้าที่ประสานงานกับประเทศสมาชิกร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อประเมินความครบถ้วนของข้อมูล ประเมินข้อเสนอในการทดสอบ (ลักษณะสมบัติเฉพาะตัวและความเป็นพิษของสารเคมี) การตรวจสอบในปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในทางปฏิบัติ รวมถึงการประเมินความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีแต่ละชนิด จากนั้นก็จะมีขั้นตอนต่อเนื่องในรายละเอียดอีกจำนวนหนึ่ง จนสามารถแยกแยะระดับความเสี่ยงของสารเคมีแต่ละรายการที่พิจารณาได้

หากพบสารเคมีรายการใด มีลักษณะเฉพาะตัวเข้าข่ายเป็นสารที่น่าเป็นห่วง (Substances of Very High Concerns – sVHC) ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ก็จะมีการเสนอรายชื่อสารที่ “เข้าข่าย” เหล่านี้ไปพิจารณา/ศึกษาข้อมูลและปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมในรายละเอียด หากผลศึกษาพบสารใดมีความเสี่ยงสูงและจำเป็นต้องมีการควบคุม/ดูแลเป็นพิเศษ ก็จะมีขั้นตอนการประกาศรายชื่อสารเคมีเหล่านี้ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบเป็นระยะๆ บัญชีรายชื่อนี้ รู้จักกันในนาม Candidate List หรือบัญชีรายชื่อ sVHC ที่เป็นสารควบคุม ซึ่งจะเป็นบัญชีรายชื่อที่ REACH จะนำมาใช้กับสินค้าประเภท ผลิตภัณฑ์ โดยผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ผลิตภัณฑ์ใดที่มีส่วนผสมของ sVHC ที่มีรายชื่อในบัญชีนี้ เกินเกณฑ์กระตุ้นที่กฎหมายกำหนด ต้องแจ้งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ทราบ (Notification)

จากบัญชีรายชื่อ Candidate List ที่ได้ REACH ยังมีข้อกำหนดต่อเนื่องให้เจ้าหน้าที่ ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อจัดลำดับความสำคัญตามเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด หากพบ Candidate List รายการใดมี “ความสำคัญ” สูงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมเป็นพิเศษ ก็จะมีการบรรจุรายชื่อเข้าในบัญชีรายชื่อ sVHC ที่ต้องขออนุญาต หรือ Authorization List ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของ กลไกขั้นที่ 3 คือการขออนุญาตใช้งานสารเคมี (Authorization: A) โดยผู้ที่ต้องการใช้สารเคมีเหล่านี้ ต้องยื่นขออนุญาตใช้งานกับเจ้าหน้าที่ในแต่ละประเทศ พร้อมให้เหตุผลความจำเป็นในการใช้งาน รวมถึงข้อมูลเทคนิคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการใช้งานสารเคมีเหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย และเพื่อให้มั่นใจว่าการใช้งานสารที่น่าเป็นห่วงเหล่านี้จะลดลงในอนาคต REACH ยังได้มีข้อกำหนดให้ผู้ที่ขออนุญาตใช้งานสารเคมีในบัญชี Authorization List ต้องเสนอแผนในการทำวิจัยเพื่อค้นหาสารเคมีชนิดอื่นหรือทางออกทางอื่นที่ปลอดภัยกว่า มาพร้อมกับเอกสารยื่นขออนุญาต ซึ่งเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องพิจารณาคำขอเป็นกรณีๆ ไป

หากต่อมามีข้อมูลหรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ให้เชื่อได้ว่า มาตรการควบคุมทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ใช้ไม่ได้ผลหรือไม่มีประสิทธิภาพ หรือ หากพบสารเคมีรายการใดมีความเสี่ยงสูงเกินขีดจำกัดที่ยอมรับได้ ก็จะเข้าสู่กลไกขั้นที่ 4 คือ การจำกัดการใช้สารเคมีบางชนิด (Restriction) ซึ่ง REACH ได้กำหนดขั้นตอนในการบรรจุรายชื่อสารเคมีนั้นๆ ไว้ในบัญชีรายชื่อ “สารต้องห้าม” (Restriction List) ซึ่งจะมีผลทำให้ไม่สามารถใช้งาน “สารต้องห้าม” ในงานที่กำหนดตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

 

 Candidate List (SVHC-C): 

บัญชีรายชื่อ SVHC ที่ถูกจัดเป็นสารควบคุม ใช้กับสินค้าในกลุ่ม ผลิตภัณฑ์ (Articles) ผ่านขั้นตอนการจดแจ้ง (Notification) และการสื่อสารข้อมูลในสายโซ่การผลิต

ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ นอกสหภาพยุโรป: หากมีชิ้นส่วนใดมี SVHC ที่มีรายชื่อในบัญชีนี้ เกินเงื่อนไขกระตุ้นที่กฎหมายกำหนด (0.1% โดยน้ำหนัก) ต้องแจ้งข้อมูลให้กับลูกค้า (ผู้รับสินค้า) ตลอดสายโซ่การผลิต   

ผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ในสหภาพยุโรป: แจ้งข้อมูลให้ลูกค้าเหมือนกับผู้ผลิตนอก EU และ จดแจ้งข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ หากมีสารนี้ในชิ้นส่วน/ผลิตภัณฑ์เกิน 0.1% และ มีสารนี้ (ในทุกผลิตภัณฑ์รวมกัน) เกิน 1 ตัน/ปี 

Authorization List (SVHC-A):

บัญชีรายชื่อ SVHC ที่ต้องขออนุญาตใช้งาน ใช้กับสินค้าในกลุ่ม สารเคมี/เคมีภัณฑ์ ผ่านขั้นตอนการขออนุญาต (Authorization) – ผู้ผลิต/ผู้นำเข้า และผู้ใช้ในสายโซ่การผลิต (Downstream Users-DU) สารเคมี/เคมีภัณฑ์ ที่มีส่วนผสมของ SVHC ที่มีรายชื่อในบัญชีนี้ เกินเงื่อนไขกระตุ้นที่กฎหมายกำหนด ต้องยื่นขออนุญาตใช้งานสารเคมีกลุ่มนี้ และต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะสามารถ วางตลาด/นำเข้า/ใช้งาน สารเคมีเหล่านี้ได้  (ใช้บังคับได้เฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ใน EU)

Restriction List

บัญชีรายชื่อเคมีที่ถูกจัดเป็นสารต้องห้าม (ไม่จำเป็นต้องเป็น SVHC) ใช้ได้กับสินค้าทุกประเภท ทั้ง สารเคมี/เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ การจำกัดการใช้สารอันตรายสามารถมีได้หลายรูปแบบ ขึ้นกับลักษณะของความเสี่ยงของสารนั้นๆ ตั้งแต่การจำกัดการใช้งานสารเคมีบางชนิดเฉพาะจุด เฉพาะเรื่อง เฉพาะการใช้งานบางประเภท เฉพาะบางผลิตภัณฑ์ ไปจนถึง “Total Ban” ที่ห้ามในทุกกรณี

 

พึงสังเกตว่า REACH บรรจุบัญชีรายชื่อสารเคมี และรายละเอียดทางเทคนิคทั้งหมด (เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทดสอบลักษณะสมบัติของสารเคมี รายละเอียดเนื้อหาของรายงานความปลอดภัยสารเคมี ฯลฯ) ไว้ในเอกสารแนบท้ายกฎหมาย (Annex) ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการเปลี่ยนแปลง/เพิ่มเติมในภายหลัง เป็นการเปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่ สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น

การใช้กลไกของ REACH

REACH เน้นที่ข้อมูลสารเคมีและการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสารเคมีที่เหมาะสมตลอดสายโซ่การผลิต โดย REACH ไม่ได้พิจารณาเฉพาะลักษณะเฉพาะตัวของสารเคมีอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นให้พิจารณาควบคู่กัน เช่น ปริมาณและลักษณะการใช้งาน ระดับความสามารถและความเกี่ยวข้องของ “Actor” ในแต่ละลำดับขั้นของสายโซ่การผลิต รูปแบบการกระจาย/การใช้งาน และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีกหลายด้านประกอบกัน โดย REACH ได้มีการกำหนด “เงื่อนไขกระตุ้น” ให้กลไกต่างๆ ทำงานตามระดับความเสี่ยงตามลำดับ ดังที่ได้กล่าวข้างต้น

กลไกภายใต้ REACH ออกแบบมาเพื่อใช้กับ สารเคมี/เคมีภัณฑ์ หน้าที่/ความรับผิดชอบที่กำหนดให้กับ Actor แต่ละราย ก็เป็นหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับ สารเคมี/เคมีภัณฑ์ ซึ่งจะใช้ได้กับ Actor ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ สารเคมี/เคมีภัณฑ์ เท่านั้น แม้กลไกภายใต้ REACH จะเป็นกลไกที่แปรผันตามระดับความเสี่ยงหรือ “ปัจจัยกระตุ้น” แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ สารเคมี/เคมีภัณฑ์ แล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายกำหนด เว้นจะมีการการยกเว้นเป็นกรณีๆ ไป

    REACH แยกสินค้าในกลุ่ม ผลิตภัณฑ์ (Articles) ออกจากกลุ่ม สารเคมี/เคมีภัณฑ์ (Substances/Mixtures) แม้ว่าผลิตภัณฑ์ จะเป็นผลผลิตจากการแปรรูปสารเคมีก็ตาม แต่สารเคมีที่มีอยู่ในตัวผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่มักอยู่ในสภาวะที่ไม่เป็นอิสระ โอกาสที่สารเคมีในตัวผลิตภัณฑ์ จะเล็ดลอดออกไปผสมผสานหรือก่อปฏิกิริยากับสารเคมีชนิดอื่นจนก่อให้เกิดอันตราย จึงมีน้อยกว่า สารเคมีในสภาวะอิสระ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สารเคมีที่มีอยู่ในสินค้าประเภทนี้จะไม่ไปก่ออันตรายเสมอไป มีกรณีพิเศษบางกรณี ที่สารเคมีบางชนิดที่มีอยู่ในสินค้าประเภทนี้ สามารถเป็นอันตรายได้ เช่น กรณีที่ผู้ผลิตตั้งใจจะปลดปล่อยสารเคมีบางชนิดออกจากตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อหวังประโยชน์บางอย่าง หรือในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ มีส่วนผสมของสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ หรือต่อสิ่งแวดล้อมเป็นต้น ข้อกำหนดภายใต้ REACH สำหรับสินค้าในผลิตภัณฑ์ จึงมีรูปแบบตรงกันข้ามกับสินค้ากลุ่ม สารเคมี/เคมีภัณฑ์ กล่าวคือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ แทบไม่มีหน้าที่โดยตรงภายใต้ REACH เว้นแต่ในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ ที่มีลักษณะเฉพาะบางประการ ที่จะมีข้อกำหนดเฉพาะเรื่องเป็นกรณีๆ ไป

 สารเคมี (Substances: S): 

ธาตุหรือสารประกอบทางเคมี ทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติ หรือที่ได้มาจากกระบวนการผลิต ทั้งนี้หมายรวมถึง สารเติมแต่ง ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้ สสารหรือสารเคมีนั้นๆ คงสภาพอยู่ได้ และสารปนเปื้อนที่ติดมาจากกระบวนการผลิตที่ใช้ แต่ไม่รวมถึงตัวทำละลาย  ที่สามารถแยกออกจาก "วัตถุ" นี้ได้โดยไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพหรือส่วนผสมของ "วัตถุ" ชนิดนี้

ของผสม/เคมีภัณฑ์ (Mixture):

ของผสมหรือสารละลาย ที่ประกอบด้วยสารเคมี ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป

ผลิตภัณฑ์ (Articles: A): 

วัตถุใดๆ ที่ถูกนำมาผลิต/แปรรูปจนได้เป็นวัตถุที่มีรูปทรง พื้นผิว หรือ ดีไซน์พิเศษ ที่เป็นลักษณะสมบัติเป็นตัวกำหนดประโยชน์ใช้สอยของวัตถุนี้ มากกว่าส่วนผสมทางเคมีของวัตถุนั้นๆ

 

ข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์

ข้อกำหนดภายใต้ REACH ที่เกี่ยวข้องกับ ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าสินค้าประเภท ผลิตภัณฑ์ มีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่อง (อาจมีการออกข้อกำหนดเพิ่มเติมในอนาคตได้) โดยข้อกำหนดแต่ละเรื่อง จะมีการกำหนด “เงื่อนไขกระตุ้น” – ผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะได้ตามเงื่อนไขกระตุ้น ครบทุกข้อ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนั้นๆ ตามรูปแบบ/ขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด

สรุปข้อกำหนดภายใต้ REACH ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าประเภท ผลิตภัณฑ์ (Articles) 

 ข้อกำหนด เงื่อนไขกระตุ้น (Trigger Condition)
 การจดทะเบียน (Registration):
มาตรา 7(1) - ผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ต้องจดทะเบียนสารเคมีทุกรายการ ที่มีลักษณะได้ตามเงื่อนไขกระตุ้นครบทุกข้อ
  1. เงื่อนไข Intended Release: มีสารเคมีที่ตั้งใจจะปลดปล่อย (Intended Release) ออกจากตัวผลิตภัณฑ์ ในสภาวะการใช้งานตามปกติและการใช้งานที่คาดการณ์ได้
  2. เงื่อนไขปริมาณ: มีสารที่ตั้งใจจะปล่อยนี้ “ผ่านมือ” Actor รายนี้ เกิน 1 ตันต่อปี (นับสารเคมีชนิดเดียวกัน รวมกัน ไม่ว่าจะมาจากผลิตภัณฑ์ รายการไหน)
  3. เงื่อนไขสารใหม่: ยังไม่มีผู้ใดจดทะเบียนสารเคมีชนิดนี้ สำหรับงานนี้ มาก่อน (มาตรา 7(6))
การจดแจ้ง (Notification)
มาตรา 7(2) - ผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ต้องแจ้งข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ หากผลิต/นำเข้า ผลิตภัณฑ์ ที่มีลักษณะได้ตามเงื่อนไขกระตุ้นครบทุกข้อ
หมายเหตุ:
กลไกการจดแจ้งจะเริ่มบังคับใช้ ตั้งแต่ วันที่ 1 มิถุนายน 2011 เป็นต้นไป โดยการแจ้งข้อมูลส่วนผสมของ Candidate List จะมีผลบังคับใช้ 6 เดือนหลังมีการประกาศรายชื่อ (สำหรับ Candidate List ที่ประกาศก่อนวันที่ 31/12/2010 เริ่มจดแจ้งวันที่ 1/6/2011)
  1.  เงื่อนไข Candidate List: มีส่วนผสมของ sVHC ที่มีรายชื่อปรากฏในบัญชี Candidate List
  2. เงื่อนไขส่วนผสม: ในตัวผลิตภัณฑ์ มีส่วนผสมของ sVHC ที่มีรายชื่อในบัญชี Candidate List นี้ (แต่ละตัว) เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
  3. เงื่อนไขปริมาณ: มี sVHC รายการนั้น “ผ่านมือ” Actor รายนี้ เกิน 1 ตันต่อปี (นับสารเคมีชนิดเดียวกัน รวมกัน ไม่ว่าจะมาจากผลิตภัณฑ์ รายการไหน)
  4. เงื่อนไขสารใหม่: ยังไม่มีผู้ใดจดทะเบียนสารเคมีชนิดนี้ สำหรับงานนี้ มาก่อน (มาตรา 7(6))
  5. เงื่อนไขการป้องกันการได้รับสาร: ผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ไม่สามารถป้องกัน มนุษย์ หรือสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ได้รับสารนี้ ในระหว่างการใช้งานตามปกติหรือในสภาวะที่คาดการณ์ได้ ซึ่งหมายรวมถึง การทิ้งผลิตภัณฑ์นี้ ได้ (มาตรา 7(3))

การสื่อสารข้อมูลในสายโซ่การผลิต
(Duty to communicate information on substances in articles) มาตรา 33 - ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ ผลิตภัณฑ์ ที่มีลักษณะได้ตามเงื่อนไขกระตุ้นครบทุกข้อ ต้องสื่อสารข้อมูลที่มี ให้กับผู้รับสินค้าของตน
หมายเหตุ: 

  • ข้อกำหนดข้อนี้มีผลบังคับใช้ทันที ที่มีการประกาศรายชื่อ Candidate List
  • อาจมีการขยายขอบเขตของข้อกำหนดข้อนี้ให้ครอบคลุม การสื่อสารข้อมูลสารอันตรายกลุ่มอื่น (อาทิ สารที่ส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมน, วัสดุนาโน ฯลฯ) 
  1.  เงื่อนไข Candidate List: เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ sVHC ที่มีรายชื่อในบัญชี Candidate List
  2. เงื่อนไขส่วนผสม: ในตัวผลิตภัณฑ์ มีส่วนผสมของ sVHC ที่มีรายชื่อในบัญชี Candidate List นี้ (แต่ละตัว) เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
การห้ามใช้สารอันตรายบางชนิด ตามที่ระบุในข้อห้ามในแต่ละเรื่อง (Annex XVII)

 

พึงสังเกตมาตรการควบคุมความเสี่ยงภายใต้ REACH สำหรับสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ ตามที่สรุปในตารางข้างต้น (ยกเว้นข้อกำหนดเรื่องการห้ามซึ่งถือเป็นเครื่องมือชิ้นสุดท้ายที่ REACH จะนำออกมาใช้) กลไกอื่นที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่มีข้อกำหนดข้อใด ที่จำกัดการใช้งานสารเคมีหรือการกำหนดลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ (ไม่มีข้อกำหนดใดมีผลกระทบโดยตรงต่อตัวผลิตภัณฑ์) แต่เป็นการกำหนดหน้าที่ ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องรับไปดำเนินการ - ผู้ที่ไม่ทำหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายกำหนด จะไม่ได้รับอนุญาตให้ ผลิต/นำเข้า ผลิตภัณฑ์ ที่เป็นไปตามเงื่อนไขกระตุ้น ในขณะที่ผู้ผลิต/ผู้นำเข้ารายอื่น ที่ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างครบถ้วน จะสามารถ ผลิต/นำเข้า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ต่อ

REACH กับผู้ประกอบการนอก EU

REACH เป็นกฎหมายของสหภาพยุโรป ที่บังคับใช้ได้เฉพาะกับพลเมือง EU ในเขตแดน EU เท่านั้น หน้าที่สำหรับ Actor ในลำดับต่างๆ ที่กำหนดขึ้นภายใต้ REACH ทั้งที่ได้กล่าวในบทความนี้ และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี/เคมีภัณฑ์ที่ไม่ได้กล่าวในที่นี้ เป็นหน้าที่สำหรับผู้ประกอบการ EU และจะใช้ได้เฉพาะกิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในพรมแดน EU เท่านั้น ผู้ผลิตในสายโซ่การผลิตที่อยู่นอก EU ไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดข้อใดภายใต้ REACH โดยตรง แต่จะมีหน้าที่ทางอ้อมในฐานะผู้ขายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ EU ที่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำเข้าและผู้ใช้ในสายโซ่การผลิต (Downstream User) เพื่อช่วยให้ Actor เหล่านี้สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างครบถ้วน ตามที่กฎหมายกำหนด
ด้วยข้อกำหนดของ REACH ที่ค่อนข้างซับซ้อน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอก EU จะมีความสับสน จนอาจนำไปสู่การออกข้อกำหนดของลูกค้า ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ หรือข้อกำหนดให้มีการดำเนินการใดๆ ที่ผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์นอก EU ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม (ผ่านตัวแทน) ข้อกำหนดของ REACH เกือบทั้งหมด เป็นข้อกำหนดที่ใช้ได้เฉพาะกับสินค้าประเภท สารเคมี/เคมีภัณฑ์ มีเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น ที่ใช้ได้กับสินค้าประเภท ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดบางข้อใช้ได้เฉพาะกับผู้ผลิตที่อยู่ใน EU เท่านั้น แม้จะเป็นการผลิต ผลิตภัณฑ์ เหมือนๆ กัน แต่ผู้ผลิตนอก EU ก็ไม่ทำหน้าที่ตามที่ REACH กำหนดได้เหมือนผู้ผลิตใน EU เช่น ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับกลไกการขออนุญาตใช้สารเคมีบางชนิด (Authorization) ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่บังคับใช้กับการใช้งาน สารเคมี/เคมีภัณฑ์ ที่เป็น sVHC ที่มีรายชื่อในบัญชีรายชื่อ Authorization List – ข้อกำหนดนี้ ใช้เฉพาะกับ การใช้งานสารเคมี/เคมีภัณฑ์ ในสหภาพยุโรป (การใช้งานผลิตภัณฑ์ หรือการนำเข้าชิ้นส่วน/อะไหล่ เพื่อนำไปประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป ในสหภาพยุโรป ไม่ถือเป็นการใช้งานสารเคมี ) ไม่รวมการใช้งานสารเคมีเหล่านี้นอก EU และผู้ที่สามารถยื่นขออนุญาตได้ ต้องเป็นองค์กรใน EU เท่านั้น (ผู้ใช้สารเคมีนี้ หรือผู้ผลิต/ตัวแทนผู้ผลิตสารเคมีชนิดนี้) เป็นต้น

สรุป

  1. REACH เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยสารเคมี ที่มุ่งเน้นการควบคุมความเสี่ยงจากการใช้สารเคมี โดยผ่านกลไกพื้นฐาน 4 กลไก ได้แก่ การจดทะเบียนสารเคมี (Registration: R) การประเมินข้อมูลสารเคมี (Evaluation: E) การขออนุญาตใช้งานสารเคมีบางชนิด (Authorization: A) และการห้ามใช้สารอันตรายบางชนิด (Restriction)
  2. กลไกภายใต้ REACH เป็นกลไกที่ไม่ตายตัว แต่จะแปรผันตามระดับความเสี่ยงซึ่ง REACH กำหนดในรูปเงื่อนไขกระตุ้น – ยิ่งมีความเสี่ยงมาก ข้อกำหนด/ภาระหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็จะมีมากขึ้นและเข้มงวดขึ้นเป็นเงาตามตัว
  3. กลไกภายใต้ REACH ออกแบบมาเพื่อใช้กับ สารเคมี/เคมีภัณฑ์ แต่จะมีข้อกำหนดเฉพาะบางเรื่องและในบางกรณีที่เป็นไปตามเงื่อนไขกระตุ้น ที่ใช้ได้กับสินค้าประเภท ผลิตภัณฑ์
  4. ข้อกำหนดภายใต้ REACH ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ผลิตภัณฑ์ ประเมินที่ปริมาณสารเคมี ที่ได้ตามเงื่อนไข ที่ติดไปพร้อมกับตัวผลิตภัณฑ์ ณ จุดนำเข้าผลิตภัณฑ์นั้นๆ เท่านั้น ไม่รวมสารเคมี/เคมีภัณฑ์ ที่มีใช้ในกระบวนการผลิตนอก EU ที่ไม่ติดไปกับตัวสินค้า
  5. ลักษณะของข้อกำหนดภายใต้ REACH แตกต่างจากข้อกำหนดของ RoHS/ELV โดย REACH ไม่มีข้อกำหนดข้อใดที่กำหนดลักษณะเฉพาะของสินค้า (ยกเว้นกรณี การห้าม) แต่เป็นการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสารเคมี/เคมีภัณฑ์ ในแต่ละลำดับขั้นของการผลิต/การใช้งานสารเคมี โดย ผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่ทำหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายกำหนด จะไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีชนิดนั้นต่อ
  6. ข้อกำหนดภายใต้ REACH ใช้ได้กับ พลเมืองและผู้ประกอบการ EU ที่ทำกิจกรรมในเชิงพานิชที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสารเคมี/เคมีภัณฑ์ ที่เกิดขึ้นในพรมแดน EU ไม่ว่าผลลัพธ์หรือสินค้าที่ได้จากกิจกรรมนั้น จะถูกนำเข้าตลาด EU หรือไม่ก็ตาม (รวมการผลิตเพื่อการส่งออก 100%) แต่ REACH ไม่ครอบคลุมกิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอก EU – REACH จึงไม่มีผลกระทบทางตรงต่อผู้ผลิตนอก EU แต่ผู้ผลิตนอก EU มีหน้าที่ทางอ้อมในฐานะผู้ขายสินค้าให้กับผู้ประกอบการใน EU ที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำเข้าหรือผู้ใช้ในสายโซ่การผลิต (Downstream User) เพื่อช่วยให้ลูกค้ากลุ่มนี้ สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างครบถ้วน ตามที่กฎหมายกำหนด

เอกสารอ้างอิง และแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

 

 

 

[1] กฎหมายของ EU มีผลบังคับทางตรงกับ บุคคลหรือนิติบุคล ที่มีที่ตั้งหรือประกอบกิจการในพรมแดน EU เท่านั้น

Latest Forum

  • ไม่มีกระทู้แสดง

Who's Online

มี 80 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

© 2023 ThaiRoHS.org. All Rights Reserved.