ECHA ประกาศ REACH SVHC-C Lot ใหม่ เมื่อ 15 มกราคม 2562 มีสารใหม่เพิ่มมา 6 รายการ ทำให้จำนวน SVHC-C รวมถึงปัจจุบันเป็น 197 รายการ
มีอะไรเพิ่มบ้าง?
รายการสารที่เพิ่มทั้ง 6 รายการสรุปได้ในตารางด้านล่าง ท่านที่ต้องการข้อมูล/รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาเช็คที่หน้าเว็บไซด์ของ ECHA
ชื่อสาร | CAS No | EC No | กลุ่มสาร* | เหตุผล | |
1 | 1,7,7-trimethyl-3-(phenylmethylene) bicyclo[2.2.1] heptan-2-one (3-benzylidene camphor; 3-BC) |
15087-24-8 | 239-139-9 | UV-filter, UV-absorber | EDC |
2 | 2,2-bis(4'-hydroxyphenyl)-4-methylpentane (diphenols) |
6807-17-6 | 401-720-1 | Bisphenols | R (1B) |
3 | Benzo[k]fluoranthene | 207-08-9 | 205-916-6 | PAH | C (1B), PBT, vPvB |
4 | Fluoranthene | 206-44-0; 93951-69-0 |
205-912-4 | PAH | PBT, vPvB |
5 | Phenanthrene | 85-01-8 | 201-581-5 | PAH | vPvB |
6 | Pyrene | 129-00-0; 1718-52-1 |
204-927-3 | PAH | PBT, vPvB |
หมายเหตุ (*): เพื่อเป็นข้อมูลเท่านั้น เหตุผลในการควบคุม: C=เป็นสารก่อมะเร็ง, PBT=เป็นมลพิษที่ตกค้างยาวนานและสะสมในสิ่งมีชีวิต (persistent, bioaccumulative and toxic), vPvB= คงทนมากและสะสมในสิ่งมีชีวิตได้มาก (very persistent and very bioaccumulative), EDC = สารที่ก่อกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (endocrine disruptor) |
เกี่ยวข้องกับบริษัทไหม?
SVHC-C Lot นี้ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเท่าไร เพราะไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการในวงกว้าง แต่ก็อาจสร้างความสับสนได้มากถ้าไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่หากพิจารณาข้อมูล "กลุ่มสาร" ที่ใส่เพิ่มไว้ให้ในตาราง ก็อาจจะพอเดา/ประเมินความเกี่ยวข้องเบื้องต้นได้
UV-Filter/UV-Absorber
สารกลุ่มนี้ ใช้ผสมในวัสดุเพื่อช่วยดูดซับหรือกรองรังสี UV ประโยชน์การใช้งานที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่น Sun Block หรือ Sun Screen ที่ใช้ทาผิวกันแดด
งานในเชิงอุตสาหกรรมที่อาจมีการใช้สารประเภทนี้ ได้แก่งานที่ต้องการปกป้องการทำลายจากรังสี UV เช่น สี (ทาภายนอก) สารเคลือบสิ่งทอ (ภายนอก) หมึกพิมพ์ (แผ่นป้ายถนน, ฯลฯ ที่ใช้ภายนอก) หรืองานที่ต้องการรังสี UV เช่น UV-curing agents, UV Photoinitiators ซึ่งอาจมีใช้ผสมในกาวที่ Cure โดยใช้แสงยูวี หรือหมึกพิมพ์เลเซอร์ ฯลฯ ซึ่งในกรณีหลังนี้ ต้องเข้าใจด้วยว่า หลังจากสารเคมีทั้งหมด Cure ได้ที่แล้วอาจไม่หลงเหลือสารตั้งต้นตัวเดิมที่ใส่ไป (แต่อาจมีคงค้างได้ หากผสมไม่ได้สัดส่วนพอดี หรือ Cure ไม่สมบูรณ์)
Bisphenols
Bisphonols ที่รู้จักกันแพร่หลายได้แก่ Bisphenol A หรือ BPA ซึ่งในอดีตใช้เป็นวัสดุตั้งต้นสำหรับใช้สังเคราะห์เป็นพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โพลิคาร์บอเนต และอีพอกซี่ นอกจากงานพลาสติกแล้ว ยังมีการใช้ BPA งานกระดาษพิมพ์โดยใช้ความร้อน (Thermal papers) ที่ใช้เป็นใบเสร็จหรือสลิปเอทีเอ็ม ฯลฯ ต่อมาเมื่อมีกระแสต่อต้าน BPA เกิดขึ้นมาก ผู้ผลิตก็คิดค้นสารเคมีสูตรใหม่ที่ไม่มี BPA เพื่อผลิตเป็นสินค้าปลอด BPA (BPA-Free) สารทดแทน BPA ที่มีการนำมาใช้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังวนเวียนอยู่ในวง Bisphenols ทำให้มี Bisphenols ตัวใหม่เกิดขึ้นมามาก จาก BPA ไปจนถึง BPZ ทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องทำการศึกษาเพื่อประเมินสถานการณ์ โดยล่าสุด KEMI ประเทศสวีเดน ได้เผยแพร่ผลการสำรวจ ซึ่งพบสารเคมีกว่า 200 ชนิดที่มีโครงสร้างคล้าย BPA และมี Bisphenols 37 ชนิดที่มีลักษณะเป็นสารก่อกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (Endocrine Disruptors) เหมือนกับ BPA จน NGO เรียกที่ตามติดเรื่องนี้ เรียก "เมนู" ใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ว่า "ซุปสารพิษ"
อนึ่ง BPA (Cas No, 80-05-7) ถูกกำหนดเป็น SVHC-C ไปแล้วตั้งแต่ใน Lot ที่ 16 (มกราคม 2017) นอกจากนี้ BPA ยังถูกประกาศเป็นสารต้องห้าม ในงาน Thermal Paper (Restriction List รายการที่ 66 ประกาศเมื่อปี 2016) แนวทางการตรวจสอบงานที่อาจพบ Bisphehol รายการใหม่นี้ ก็ไม่น่าจะแตกต่างไปจากแนวทางเดิม/งานเดิมที่เคยมีการใช้ BPA (อาทิ กระดาษ Thermal, ชิ้นส่วน/ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโพลิคาร์บอเนต (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง PC ใส เช่น เลนซ์, ขวด, แผ่น PC ใส ฯลฯ) และสารตกค้างที่อาจหลงเหลือในอีพอกซี่, สารเคลือบกระป๋อง หรือชั้นผิวเคลือบที่ทำหน้าที่เป็นชั้นกั้นระหว่างของเหลวที่มีฤทธิ์กัดกร่อน กับเนื้อโลหะ (เช่นท่อน้ำ กระติกน้ำสเตนเลส ฯลฯ))
PAH
PAH เป็นสารที่แตกต่างจากสารควบคุมตัวอื่นที่รู้จัก โดยทั่วไป PAH มักไม่เป็นสารที่มีประโยชน์เชิงวิศวกรรม จึงไม่น่าจะมีผู้ผลิตหรือผู้ที่คิดจะเสาะหา PAH มาใช้ผสมในผลิตภัณฑ์ แต่สารกลุ่มนี้เป็นสารที่เกิดขึ้นเองโดยไม่จงใจ จากกระบวนการเผาไหม้ (เช่นเขม่าควันดำ) หรือเป็นสารปนเปื้อนที่ติดอยู่ในน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิน (เช่น ผง Black Carbon) ด้วยความที่เป็นสารปนเปื้อน ไม่ใช่สารที่มีผู้ตั้งใจนำมาผสมในเนื้อวัสดุ/สินค้า มาตรการยืนยันส่วนผสมที่ผู้ผลิตนำมาผสม คงไม่มีประโยชน์ แต่ครั้นจะให้ผู้ผลิตทุกรายทำการทดสอบเพื่อยืนยันการปลอด PAH ก็คงจะมีค่าใช้จ่ายมหาศาล ในกรณีนี้ ผู้ที่เป็นซื้อรายต้นๆ (Compounder) คงต้องเป็น Player หลักที่ต้องคอย Screen วัตถุดิบที่เกี่ยวข้องที่มีโอกาสมี PAH ไม่ให้มีการปนเปื้อน - ไหลไปไกลในสายโซ่การผลิต
PAH ไม่ใช่สารใหม่ในบัญชี SVHC-C ก่อนหน้านี้ ECHA ได้ประกาศ PAH มาแล้วหลายรายการ นอกจากนี้ PAH 8 ชนิด ยังได้ถูกกำหนดเป็นสารต้องห้าม (Restriction List รายการที่ 50) ในงาน Extender oil ที่ใช้ผสมในยางรถยนต์ มาตั้งแต่ปี 2010 และในชิ้นส่วนยางและพลาสติกที่มีโอกาสสัมผัสกับผิวหนังหรือช่องปาก ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2015 (ขีดจำกัด 1ppm สำหรับสินค้าทั่วไป และ 0.5ppm สำหรับสินค้าสำหรับเด็ก) PAH จึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง
จะหาดูบัญชีรายชื่อ SVHC-C ทั้งหมดได้ที่ไหน?
ที่ที่ปลอดภัยที่สุดในการสืบค้นและติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับ REACH คือที่หน้าเว็บไซด์ของ ECHA ในนี้มีข้อมูลครบถ้วนทุกอย่าง ทั้งในเรื่องข้อมูลความปลอดภัย เรื่องการจดทะเบียน (ถ้ามีผู้ยื่นจด) และในกรณีที่ประกาศพ้น 6 เดือนไปแล้ว และมีผู้จดแจ้ง (Notify) การใช้สาร SVHC-C แต่ละรายการ ก็สามารถคลิกดูได้ว่าสารเหล่านี้มีการนำไปใช้ทำอะไรบ้าง นอกจากนี้ ผู้สนใจยังสามารถ คลิกสมัครขอรับทราบข่าวสารอัตโนมัติได้ด้วย (คลิกไปที่ Subscribe news) เมื่อมีการประกาศ Lot ใหม่ หรือมีการแจ้งเวียนขอความเห็น ฯลฯ ก็จะมี email ส่งมาให้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องเสียเวลาคอยนั่งคลิกดู
แต่หากข้อมูลตรงนี้มีมากไป MTEC ได้ทำเอกสาร "Summary of REACH SVHC Candidate List" ซึ่งเป็นข้อมูลแบบสรุปไว้ให้ (มี Update เรื่อยๆ ทุก Lot) ในเอกสารนี้นอกจากจะมีรายชื่อสารเคมีที่ถูกขึ้นบัญชีแล้ว ยังมีข้อมูลอื่นเพื่่อช่วยให้ผู้อ่านประเมินได้อย่างคร่าวๆ ว่าสารแต่ละตัว คืออะไร? เอาไปไว้ใช้ทำอะไร? จะมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับบริษัทหรือ Supplier หรือไม่? อย่างไร? และถ้าจะต้องทดสอบจะทำได้ยาก-ง่ายแค่ไหน (ดูจากสูตรเคมี - อาจต้องมีความรู้เคมีบ้างจึงจะประเมินได้)